เราทำความรู้จักนักรีวิว (reviewer/influencer) กันไปบ้างแล้ว ครั้งนี้เราจะมาพูดถึงหัวข้อที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับเจ้าของแบรนด์ เจ้าของสินค้ากันบ้าง หัวข้อที่จะพูดถึงในวันนี้ก็คือ “วิธีเลือกนักรีวิวให้ทำแคปเปญแบบตรงกลุ่มลูกค้า!”
เอ๊ะ การเลือกนักรีวิวก็ไม่น่ายากนี่นา เราก็เลือกจากคนที่ถ่ายรูปสวย คนไลก์เยอะไว้ก่อนไม่ใช่หรอ? ส่วนหนึ่งมันก็ใช่! แต่อย่าลืมว่า นักรีวิวก็เหมือนกับเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งของเราที่ผลิตคอนเทนต์ออกมาให้ แคมเปญหรืองานของเราจะออกมาดี สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของเราได้นั้น ต้องมีการทำงานจากหลายส่วน ทั้งฝั่งของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การคิดแคมเปญต่าง ๆ การเลือกใช้นักรีวิว การประสานงาน ตามงานกับนักรีวิวไปจนจบแคมเปญ และฝั่งของนักรีวิวที่จะต้องมีการทำงาน ทำรีวิวตามข้อตกลงกับทางแบรนด์ จนงานออกมาได้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้
แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าต้องเลือกนักรีวิวคนไหนกัน?
วันนี้เราเลยจะมาบอกทริคที่เอเจนซี่มือฉมังใช้เลือกนักรีวิวทำแคมเปญแบบประสบความสำเร็จกัน!
อย่างแรก “นักรีวิวที่มียอดเอนเกจเมนต์ที่ดี” ก่อนที่เราจะเลือกนักรีวิวมาร่วมงานกับแบรนด์ของเรา เราจะต้องมีการดูยอดหลังบ้านของนักรีวิวด้วย ทั้งยอดกดไลก์ กดแชร์ คอมเมนต์ รวมไปถึงรีแอคชั่นต่าง ๆ ของแต่ละโพสต์ของนักรีวิว เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย อย่าลืมว่าสิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้เลยว่ารีวิวหรือแคมเปญที่จะปล่อยออกไปนั้นจะไปถึงกลุ่มเป้าหมายของเราหรือไม่ เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากน้อยแค่ไหน หรือถ้าปล่อยออกไปแล้วสุดท้ายไม่มีใครเห็นแคมเปญของเราเลยก็อาจจะกลายเป็นการเสียเงินเสียเวลาโดยสูญเปล่าได้ ดังนั้น การพิจารณาดูยอดเอนเกจเมนต์ ยอดหลังบ้านของนักรีวิว จึงเป็นหนึ่งปัจจัยในอันดับต้น ๆ ที่เราจะต้องดูให้ดีก่อนเลือกใช้นักรีวิว
อย่างที่สอง “ความสม่ำเสมอในการลงรีวิว ลงคอนเทนต์ของนักรีวิว” ข้อนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราจะต้องให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน นักรีวิวที่ดีจะต้องมีการลงคอนเทนต์ที่สม่ำเสมอ ไม่ขาดหรือหายไปนานจนเกินไป เพราะสิ่งเหล่านี้ต่างก็มีผลในการส่งสื่อ ส่งแคมเปญของเราไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นยอดผู้ติดตามทั้งนั้น อีกทั้งความสม่ำเสมอของนักรีวิวมีผลต่ออัลกอลิทึมการเปิดการมองเห็นของแต่ละแพลตฟอร์มอย่ามีนัยยะสำคัญ
อย่างที่สาม “ราคาค่ารีวิว (budget) สมเหตุสมผล” สมเหตุสมผลในที่นี้วัดจากอะไรล่ะ ต้องบอกว่ามีหลายองค์ประกอบมากในการคิดค่ารีวิวให้สมเหตุสมผล ทั้งระดับของนักรีวิวที่วัดจากยอดผู้ติดตาม คุณภาพของงานรีวิว ความยากง่าย ความเร่งด่วน บางครั้งหากแคมเปญของเรามีความเร่งด่วนมาก อาจจะต้องมีการปรับราคาที่สูงขึ้นตาม เนื่องจากนักรีวิวจะต้องเร่งทำงานหรือแทรกคิวหากจำเป็นให้เราเหมือนกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเจราจาต่อรองกับนักรีวิวด้วย
อย่างที่สี่ “กลุ่มเป้าหมายฐานแฟนคลับของนักรีวิว” จากที่อ่านมาจะเห็นว่ามีการเน้นย้ำเรื่องกลุ่มเป้าหมายในการทำแคมเปญมาก ๆ เพราะอะไรล่ะ ทำไมกลุ่มเป้าหมายถึงสำคัญขนาดนั้น เพราะหากเราไม่มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์กลุ่ม เช่น ทำแคมเปญไปแล้วแต่คนที่เห็นคอนเทนต์ของเหล่านักรีวิวอาจจะให้เอนเกจเมนต์ที่ดีกลับมาแต่คนเหล่านั้นไม่ใช่ฐานลูกค้าของเราเลย? แคมเปญนั้นอาจหมายถึงผลลัพธ์ในกรณีที่จุดประสงค์คือยอดขายอาจเป็น 0 หรือเรียกได้ว่าสูญเปล่าได้เลย จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราจะต้องมีการทำงานด้วยเป็นอย่างดี ยิ่งกลุ่มเป้าหมายของทางแบรนด์ชัดเจน เรายิ่งสามารถเลือกใช้นักรีวิวได้อย่างหลากหลาย และมีประสิทธิภาพตามวัตถุประสงค์ของทางแบรนด์ ลองนึกภากดูวิว่าหากเราเลือกนักรีวิวที่มีฐานผู้ติดตามเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการจูงใจให้มาเป็นลูกค้าเราแบบตรงกลุ่มกว่า 80% เลย นี่มันให้เปรียบเทียบก็คือทำโฆษณาแบบทาร์เก็ตชัดๆ
อย่างที่ห้า “ภาพลักษณ์ของนักรีวิวต่อคนในสังคม” ภาพลักษณ์ของนักรีวิวมีผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์โดยตรง ลองนึกภาพตามง่าย ๆ หากนักแสดง ดารา เซเลบริตี้ที่กำลังมีข่าวดราม่าหนักมาก เป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ในสังคม ถือสินค้า หรือแนะนำบริการของทางแบรนด์ อะไรจะตามมา? ภาพลักษณ์ของแบรนด์เราก็จะเปลี่ยนไปทันที ความน่าเชื่อถือ ความต้องการสินค้าและบริการของเราอาจจะเปลี่ยนไป หรือลดลงไปเลยทันที ดังนั้นภาพลักษณ์ของนักรีวิวก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ที่เราจะต้องพิจารณาประกอบการเลือกใช้นักรีวิวด้วย วิธีการง่าย ๆ ก็คือการเข้าไปส่องโปรไฟล์ส่วนตัวของนักรีวิวตามโซเชียลแพลทฟอร์มต่าง ๆ เป็นต้น
เชื่อว่าหากทางแบรนด์นำเอา 5 ข้อนี้มาปรับใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกนักรีวิว จะทำให้เราได้ร่วมงานกับนักรีวิวที่มีคุณภาพ ได้งานรีวิวที่ดี มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การประสบความสำเร็จของแคมเปญเราในที่สุดนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเราจะสร้างแคมเปญ จะต้องมีการเลือกใช้นักรีวิว อย่าลืมนำเอา 5 ข้อนี้มาพิจารณากันด้วยน้าาา